ประหยัดรายจ่าย แบบเหมา-เหมา

Quote 1
“พยายามอย่าพกเงินสดไว้ในกระเป๋าสตางค์เยอะ โดยเฉพาะธนบัตรย่อย เพราะจะทำให้เราหยิบจ่ายง่ายและเร็วขึ้น”

 

Quote 2
“ให้คิดก่อนที่จะหยิบเงินซื้อของบางอย่างที่เรามีอยู่แล้ว อย่าคิดแค่ว่าอยากได้เพียงอย่างเดียว”

ระหว่างการขึ้น-ลงรถไฟฟ้าใต้ดิน เมื่อก่อนจะต้องหยิบเงินเพื่อไปซื้อเหรียญเข้าสถานี แต่เพื่อความสะดวกเลยไปซื้อบัตรแบบเติมเงิน แต่ก็มาคิดว่าหากเราซื้อแบบรายเดือนไปเลยจะคุ้มค่ากว่าหรือเปล่า เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทางลักษณะแบบนี้อีกนาน เมื่อตัดสินใจได้ทำให้เรารู้เลยว่า นอกจากจะสะดวกแล้วยังคุ้ม ค่าและประเมินรายจ่ายได้อีกด้วย และนี่จึงเป็นที่มาของเรื่องระบบเหมาจ่ายแบบรายเดือนที่มีอยู่หลายอย่าง จากเงินสดสู่ระบบเหมาจ่ายทีเดียว เมื่อมาแยกออกเป็นข้อๆ แล้ว เราก็จะได้รับคำตอบว่า ระบบเหมาจ่ายนั้นจะประหยัดจริงหรือไม่

ระบบเหมาจ่ายแบบรายเดือน

รายจ่ายค่าเดินทาง
ในชีวิตประจำวันของเรา ค่าใช้จ่ายของเราจะหมดไปกับเรื่องของการเดินทางเป็นส่วนใหญ่ หากเรามาลองคำนวณรายจ่ายเฉพาะการเดินทาง กำหนดไปเลยว่าในหนึ่งเดือนอัตราค่าเดินทางของเราควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ บวกลบอีกเท่าไหร่ เราสามารถคำนวณได้จากการเลือก ซื้อบัตรโดยสารแบบรายเดือน โดยคิดเฉลี่ยแบบวัน (ไป-กลับ) ก็จะทำให้ง่ายต่อการคุมรายจ่ายในส่วนนี้ ในกรณีที่เราไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เราก็ต้องพึ่งรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ ขสมก. ก็สามารถซื้อตั๋วเดือนได้
ส่วนคนที่มีรถยนต์แล้วต้องบวกค่าทางด่วน ก็สามารถซื้อแบบ Easy pass เพื่อคำนวณว่า ต่อเดือนเราต้องขึ้น-ลงทางด่วนเฉลี่ยแล้วเดือนละกี่บาท ก็เติมเงินเท่านั้น ส่วนนี้เราก็สามารถกำหนดรายจ่ายได้เช่นกัน อย่าลืมคำนวณค่าน้ำมันรถด้วย

ตาราง
หมายเหตุ : ควรสอบถามเพิ่มเติมกับทางผู้ให้บริการ

 

รายจ่ายค่าโทรศัพท์
ค่าบริการของโทรศัพท์มือถือ ในกรณี เหมาจ่ายรายเดือน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับพนักงานออฟฟิศที่ต้องมีการโทรออกบ่อยๆ พ่วงกับค่าอินเตอร์เน็ตบนมือถือ ระบบเหมาจ่ายรายเดือนก็จะคุ้มค่ากว่าระบบเติมเงิน ซึ่งระบบเติมเงิน อาจจะเหมาะกับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้โทรออก และไม่ได้ใช้มือถือสำหรับการท่องอินเตอร์เน็ต หากจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตขึ้นมา บางเครือข่ายก็จะมีเหมาจ่ายอินเตอร์เน็ตแบบรายวัน แต่เมื่อมาเฉลี่ยจริงๆ แล้ว เมื่อใช้อินเตอร์เน็ตรายวันบ่อยๆ แบบเหมาจ่ายรายเดือนดูท่าจะคุ้มค่ากว่าเยอะ โดยเราสามารถเลือกโปรโมชั่นตามเครือข่ายได้โดยประเมินการใช้ของตัวเอง และที่สำคัญสิ้นเดือนจะมีบิลค่าเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งในบิลก็จะแสดงรายละเอียดการใช้งานต่างๆ ออกมา ที่ทำให้เราสามารถประเมินได้ทันทีว่าเดือนหน้าเราจะใช้อยู่ที่เท่าไหร่ และเรายังคำนวณรายจ่ายส่วนนี้ได้ค่อนข้างแน่นอน

รายจ่ายค่าอาหาร
ในส่วนนี้เราเองที่จะต้องกำหนด โดยหารเฉลี่ยจากเงินเดือนของเราว่า ในหนึ่งวันค่ากับข้าวของเราจะอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เราซื้อของกินเกิน ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถช่วยเราเรื่องของสุขภาพได้อีกด้วย ในเมื่อกำหนดค่าอาหาร เราก็จะพยายามไม่ซื้อขนมหรือของจุกจิกอื่นๆ เพราะเกรงว่าจะเกินอัตราที่เราเฉลี่ยนั่นเอง หรือ อีกหนึ่งวิธีคือ การผูกปิ่นโตกับร้านอาหาร ใกล้เคียงออฟฟิศ เช่น มื้อเช้า 30 บาท มื้อกลางวัน 30 บาท = 60 บาท/วัน รายเดือน (วันทำงานเฉลี่ย 20 วัน) ก็จะอยู่ประมาณ 1,200 บาท บวกลบมื้อเย็นและเครื่องดื่มเป็นรายเดือน 2,000 บาท เป็นต้น
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของระบบเหมาจ่าย นอกจากจะทำให้เราสามารถคำนวณรายจ่ายต่อเดือนได้แล้ว ยังทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพกเงินสดเป็นจำนวนมากอีกด้วย

สำหรับเรื่องของค่าใช้จ่ายๆ อื่นๆ นั้น คุณสามารถกำหนดรายจ่าย เมื่อคุณรู้ยอดที่ต้องจ่ายทุกๆ สิ้นเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถ ค่าประกันสุขภาพ เงินส่งให้ครอบครัว ส่วนนี้จะเข้าไปอยู่ในหัวข้อของรายจ่ายอื่นๆ และเมื่อสิ้นเดือนมาถึง คุณจะสามารถคำนวณได้ทันทีว่า คุณมีรายจ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน แม้ในอนาคตเงินเดือนจะมากขึ้น แต่คุณยังคงจ่ายเท่าเดิม เท่ากับว่าคุณจะมีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

 

Image  ข้อมูลจาก Be Magazine

Leave a comment